Friday, 16 May 2025
TODAY SPECIAL

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

โดยพระองค์ ได้พระราชทาน 'พระปฐมบรมราชโองการ' ไว้ว่า “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด”

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ‘ขบวนพยุหยาตราชลมารค’ ครั้งแรกในรัชสมัย ร.9 ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือพุทธชยันตี 2500 ปี

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษหรือพุทธชยันตี2500 ปี ในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9

ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีที่สืบมาแต่โบราณหลายอย่างจากที่เลิกร้างไปนับตั้งแต่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนึ่งในพระราชพิธีนี้คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จัดให้มีขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2500 เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จากนั้น พ.ศ. 2502 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค และจัดในพิธีสำคัญวโรกาสต่าง ๆ รวม 17 ครั้งในรัชกาล

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

นับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 ในรัชกาลที่ 7 แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2500 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปณิธานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น หรือพุทธชยันตี 2500 ปี ในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และได้จัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่า 'ขบวนพุทธพยุหยาตรา' การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิด 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อเก็บรักษา รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์แต่ละยุคสมัย เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยหินใหม่ ถึงสมัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี เช่น วัฒนธรรมลาวโซ่ง เป็นต้น

สำหรับการก่อตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2446 ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง จากนั้นก็ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี รวมถึงทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดีขึ้นมา

จากนั้นก็ได้มีการสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทอง และในปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรก็ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง นี้ขึ้นมาเป็นอาคารชั่วคราว เพื่อไว้เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทองค่ะ จนมาในปี พ.ศ.2508-2509 กรมศิลปากร ก็ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองขึ้นแบบถาวร และเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 วันก่อตั้ง ‘สวนโมกขพลาราม’ สถานปฏิบัติธรรมอันสงบและร่มรื่น

‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ คือหนึ่งในภิกษุที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ แม้ปัจจุบันท่านจะละสังขารไปกว่า 30 ปี แต่ยังมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ นั่นคือ ‘สวนโมกขพลาราม’ วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 89 ปี ของการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้

สวนโมกขพลาราม ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 แต่เดิม ณ สถานที่แรก สร้างขึ้นที่วัดร้างตระพังจิก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในครั้งนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยโยมน้องชาย และคณะธรรมทานอีก 4-5 คน ได้ออกเสาะหาสถานที่ที่มีความวิเวก และเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

กระทั่งได้มาเจอกับวัดร้างแห่งนี้ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ จึงได้จัดทำเพิงที่พักแบบเรียบง่าย พร้อมกับเข้าอยู่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในปีนั้นพอดี โดยที่มาของชื่อ ‘สวนโมกขพลาราม’ เนื่องมาจากบริเวณวัดดังกล่าวมีต้นโมก และต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยนัยว่า ‘เป็นสวนป่าอันมีกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์’

ต่อมาในปี พ.ศ.2486 สวนโมกข์ได้ย้ายมาอยู่ที่ ‘วัดธารน้ำไหล’ บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยท่านพุทธทาสมีความปรารถนาให้สวนโมกข์เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม ภายในวัดจึงมีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งมีภาพพุทธประวัติมากมาย

นอกจากนี้รอบบริเวณวัดยังเป็นสวนป่าร่มรื่น ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรม โดยปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป ต่อมาภายหลังจากท่านพุทธทาสมรณภาพในปี พ.ศ.2536 สวนโมกข์แห่งนี้ก็ยังคงมีพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน เดินทางมาตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์อยู่เรื่อยมา นับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 93 ปี สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยฝึกจิต ชำระใจ และนำทางผู้คนให้ค้นพบกับความสงบ เหมือนดังเช่นที่เป็นมานับจากวันแรก

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ในหลวง ร. 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระธาตุเชิงชุมฯ

วันนี้ เมื่อ 57 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 

วัดพระธาตุเชิงชุมฯ ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดสกลนคร เป็นพระอารามหลวงที่พระบรมวงศานุวงศ์ แทบทุกพระองค์เคยเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯมาทรงงานยังพื้นที่จังหวัดสกลนคร 

โดยครั้งที่มีความสำคัญครั้งหนึ่ง คือเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ในขณะทรงผนวชและดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายสักการะองค์พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสน ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ‘สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2’ เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งวาติกัน ซึ่งเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง

โดยในระหว่างการเยือนไทยนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาได้เสด็จไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงรณรงค์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้งยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีน เป็นจำนวน 1 ล้านบาท

ขณะที่ภาพที่ยังคงตราตรึงในความทรงจำอย่างมิรู้ลืมเลือน ก็คือ การก้มลงจูบผืนแผ่นดินไทยขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นปอลที่ 2 และภายหลังจากเยือนประเทศไทย พระองค์ยังได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน อีกด้วย

Pengเตรียมเปิดตัว 'รถบินได้'

'Land Aircraft Carrier' มีรูปแบบเป็นรถตู้ไฟฟ้าที่มีเครื่องบินแบบพับเก็บได้ติดตั้งอยู่ด้านหลังรถ หากต้องการใช้งานสามารถปล่อยขึ้นบินขึ้นได้ทันที เริ่มใช้จริงในจีนก่อน และมีแผนขยายสู่ต่างประเทศในอนาคต

9 พฤษภาคม 2529 ในหลวง ร.9 ทรงเปิด โรงกลั่นแอลกอฮอล์ สำหรับค้นคว้า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล์'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารโรงกลั่นแอลกอฮอล์ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนด้วยน้ำมันแก๊สโซฮอล์

สำหรับการศึกษาวิจัยภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่การทดลอง ปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้วยังออกไปรับซื้อ อ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย

โรงงานแอลกอฮอล์ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91 เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง

ต่อมาเนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการสร้างอาคารศึกษาวิจังหลังใหม่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชูต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่น อาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักในภาคเหนือ รถเกิดอุบัติเหตุทำให้ไฟไหม้รถทั้งคัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงได้มีการคิดนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน

โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมาต่อมาก็สามารถผลิต แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน’

วันนี้ เมื่อ 151 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ต้องทำพิธีสัตยานุสัตย์ สาบานต่อหน้าพระพักตร์และถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อให้มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่จนเต็มกำลังความสามารถโดยไม่ลำเอียง ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และรักษาความลับ เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองการปกครองบรรลุตามวัตถุประสงค์

การประชุมของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จะต้องมีสมาชิกมาประชุมร่วมกันตั้งแต่ 7 นายขึ้นไป จึงจะนับว่าครบองค์ประชุม ผลการประชุมทุกครั้งต้องกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ เมื่อทรงเห็นชอบด้วย ผลของการประชุมหรือมติของสภาจึงจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ผ่านมาถึงวันนี้ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย เปรียบเสมือน ‘คณะรัฐมนตรี’ ที่ดำเนินการด้านกฎหมาย และให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นพื้นฐานการปกครองสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top